ตาแห้ง (Dry Eye)

          เป็นภาวะที่ฟิล์มน้ำตา หรือ Tear film ที่อยู่บริเวณผิวของชั้นหน้าลูกตา มีจำนวนหรือปริมาณไม่เพียงพอที่จะล่อลื่นผิวหรือเนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตาจึงก่อให้ผิวส่วนหน้าของลูกตาเกิดการระคายเคือง

จึงก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง ระคายเคืองตา ไม่สบายตา

 

ในภาวะปกติ ฟิล์มน้ำตาที่ผิว/เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตามีด้วยกัน 3 ชั้น จากชั้นนอกสุดไปถึงชั้นในสุด ได้แก่

1. ชั้นไขมัน สร้างจากต่อมที่เรียกว่า Meibomian gland ที่อยู่ภายในเปลือกตา/หนังตา

2. ชั้นสารน้ำ สร้างจากต่อมน้ำตาที่เรียกว่า Lacrimal gland

3. ชั้นน้ำเมือก สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Globlet cell ในเยื่อบุตาและในกระจกตา

  • หากน้ำตาชั้นไขมันบกพร่อง มักเกิดจากโรคของเปลือกตา/หนังตาที่มีการ เสียหายของต่อม Meibomian gland (เช่น ผู้ป่วยโรค Rosacea/โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โรคเปลือกตา/หนังตาอักเสบเรื้อรัง) ซึ่งเรียกว่า ภาวะต่อม Meibomian ไม่ทำงาน (Meibomian gland dysfunction เรียกย่อว่า ภาวะ MGD)
  • หากชั้นสารน้ำบกพร่อง จะเกิดภาวะ Keratoconjunctivitis sicca เรียกย่อว่า ภาวะ KCS เช่น ในโรค Sjogren (โรคโอโตอิมมูน/โรคภูมิต้านทาตนเองชนิดหนึ่งซึ่งมีผลให้ต่อมต่างๆที่มีหน้าที่สร้างสารหล่อลื่น/สารน้ำเสียหายทำงานได้น้อยลง จึงส่งผลให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อต่างๆแห้งผิดปกติ), ภาวะต่อมน้ำตาไม่ทำงาน, ภาวะตาปิดไม่สนิทจากอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า, ตลอดจนโรคเอดส์
  • หากขาดน้ำเมือก มักพบใน ภาวะลูกตาได้รับอันตรายจากสารเคมี, โรคโอโตอิมมูน/โรคภูมิต้านทานตนเอง, ภาวะขาดวิตามินเอ, โรคริดสีดวงตาเรื้อรัง, ตลอดจนจากการแพ้ยาต่างๆที่ทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังรอบๆตาร่วมกับเยื่อบุตา (เช่น โรคสะตีเวนส์จอห์นสัน /Steven’s Johnson syndrome)

 

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของตาแห้ง

1. มีการสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ จากพยาธิสภาพของต่อมต่างๆที่สร้างน้ำตา 

2. ส่วนประกอบของน้ำตาผิดปกติ เนื่องจากน้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ ทำให้น้ำตาค่อนข้าง Hypertonic /มีความเข้มข้นมากเกินไป  น้ำตาชนิดนี้จะทำลายปลายประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุตาและกระจกตา                         ทำให้ทำงานไม่ได้สมดุล จึงมีการสร้างน้ำตาน้อยลง

3. อายุมากขึ้น  เซลล์ต่อมน้ำตาจะเสื่อมเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย การสร้างน้ำตาจึงน้อยลง

4. เป็นโรคเบาหวาน เพราะจะส่งผลให้เกิดการอักเสบ โดยไม่มีการติดเชื้อของเซลล์ต่อมน้ำตาจึงสร้างน้ำตาลดลง

5. ทำ เลสิก (Lasik) มาซึ่งการทำเลสิก จะมีการตัดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระจกตา (Corneal nerve) ทำให้ไม่มีตัวกระตุ้น ให้สร้างน้ำตา

6. ใช้คอนเทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ ที่มีภาวะตาแห้ง

7. ตาที่ได้รับอุบัติเหตุทำให้หนังตา ไม่แนบกับผิวลูกตา น้ำตาจึงระเหยได้ง่าย ตาจึงแห้งง่าย

8. การใช้ยาบางชนิดประจำ เช่น ยาหยอดตารักษาต้อหิน ยารับประทานที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของระบบประสาท (Anticholinergic drug) รวมทั้งประสาทต่อมน้ำตา จึงลดการสร้างน้ำตา เช่น ยาลดความดันโลหิต       ยาคลายเครียด ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยารักษาโรคพาร์กินสัน(Parkinson disease) ยาบรรเทาโรคหวัด  ยารักษาโรคภูมิแพ้ในกลุ่มแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) เป็นต้น

 

อาการของตาแห้ง

  • มีความรู้สึกฝืดในตาเหมือนไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง
  • ระคายเคืองตา
  • ไม่สบายตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา
  • ตาพร่า ตาแพ้แสง
  • ตามัวลง
  • อาจเห็นภาพๆเดียวซ้อนเป็น 2 ภาพได้

 อาการต่างๆที่กล่าวข้างต้น จะเป็นมากขึ้นเมื่อ

  • ใช้สายตามากขึ้น เช่น อ่านหนังสือ ขับรถ ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือ ดูทีวี
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมบางภาวะ เช่น ที่มีลมพัดแรง อยู่บนเครื่องบิน อยู่ในห้องแอร์ เป็นต้น

 

ผลเสียของอาการตาแห้ง

ภาวะตาแห้ง นอกจากก่อให้เกิดอาการไม่สบายตา  แสบตา เคืองตา ตาสู้แสงไม่ได้ ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่แล้ว อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพอย่างอื่น เช่น

1. กระจกตาถลอก ผิวกระจกตาอาจหลุดลอกออกมา ยิ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

2. เนื้อเยื่อชั้นเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ของเยื่อตา และของกระจกตามีการเปลี่ยนแปลง (Squamous metaplasia) ผิวลูกตาจะดูไม่สดใส

3. กระจกตาเป็นแผล เกิดเป็นจุดๆ ทั่วไป (Punctale keratitis) ซึ่งทำให้เจ็บตา ตาสู้แสงไม่ได้

4. กระจากตาเป็นแผล ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย (Corneal ulcer)

5. มีหลอดเลือด เกิดใหม่เข้ามายังกระจกตา (Corneal neovascularization) ทำให้กระจกตาขุ่นขาว ไม่ใส ทำให้ตาแดงและตาพร่ามัวลง

6. เมื่อเป็นตาแห้งนานๆเข้า กระจกตาจะเกิดเป็นแผลเป็น บางลง และบางรายถึงขั้นกระจกตาทะลุได้

 

การป้องกันภาวะตาแห้ง

  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะตาแห้ง
  • รู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้คอนเทคเลนส์เมื่อจะใช้คอนเทคเลนส์
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • รู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้งานคอมพิวเตอร์
  • รู้จักใช้แว่นตาเพื่อปกป้องลูกตา

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://haamor.com/th